The NX Chapter

งานการบิน งานสายการบิน งานสนามบิน นักบิน ลูกเรือ แอร์โฮสเตส สจ๊วต งานขนส่งสินค้าทางอากาศ Logistics แท่นขุดเจาะน้ำมัน งานราชการ รัฐวิสาหกิจ

AviationContent

เมื่อ COVID-19 ทำอะไร “CARGO FLIGHT” ไม่ได้…

ตั้งแต่โลกนี้ได้ให้กำเนิดโรคที่มีชื่อว่า CORONA VIRUS 2019 หรือ โควิด-19 หรือภาษาบาลี คือ “โควิโท-19” ก็ทำให้โลกนี้ปั่นป่วนถึงขั้นสุด เรียกได้ว่าทุกชีวิตของมนุษย์ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป เราต้องเปลี่ยนมาใช้ชีวิตแบบ New Normal โดยในปัจจุบันนี้ เราไม่สามารถเดินทางด้วยเครื่องบินได้อย่างเป็นปกติ แต่ละประเทศก็มีมาตรการในการเดินทางเข้าประเทศที่เข้มข้น และไม่ต้องพูดถึงการท่องเที่ยว เรียกได้ว่า “ยับ” ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตกว่าเกือบ 4 ล้านคน และติดเชื้อกว่า 177 ล้านคน

อุตสาหกรรมการบินถือเป็นอุตสาหกรรมหลักในการเดินทางทางอากาศและการขนส่งสินค้าทางอากาศ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดเช่นนี้ ทำให้อุตสาหกรรมการบินต้องหยุดชะงัก เครื่องบินจากเดิมที่ขนส่งผู้คนมหาศาลข้ามประเทศและทวีปเพื่อท่องเที่ยวหรือติดต่อธุรกิจ กลับกลายเป็นต้องจอดนิ่งอยู่กับพื้นดินเฉยๆ บางสายการบินต้องปิดตัวไป เนื่องจากไม่มีผู้โดยสารเดินทางและไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายต่างๆ (ที่สวนทางกับรายรับ) ในการดำเนินธุรกิจได้ เช่น เงินเดือนนักบิน ค่าซ่อมบำรุงเครื่องบิน พนักงานทุกฝ่าย เป็นต้น

K-mile สายการบินขนส่งเฉพาะสินค้าหนึ่งเดียวของไทย

แต่ถ้าหากพวกเราได้ลองสังเกตดูดีๆ จะมีธุรกิจการบินอยู่ประเภทหนึ่งที่แทบจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากเลย สังเกตุง่ายๆจากในประเทศเราเองก็ได้ ก็คือการบินขนส่งสินค้า หรือ Cargo Flight ทุกสายการบินในประเทศไทย ไม่ว่าจะพี่ใหญ่บิ๊กเบิ้มอย่างการบินไทย หรือจะพี่อู้ฟู้อย่างแอร์เอเชีย ก็เซกันเป็นแถว ปิดตัวไป 1 สายการบินคือ Nokscoot และที่ช้ำไปกว่านั้นผู้บริหารประเทศก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญอีก!

7 สายการบินที่รวมตัวกันขอ Soft Loan ไปเพื่อนำเงินมาหมุน ก็มีหลักเกณฑ์เยอะจนต้องถอดใจกันไปหมด แต่… สายการบินขนส่งเฉพาะสินค้าหนึ่งเดียวของไทย อย่าง “K-MILE” กลับ “บินไป…ผิวปากไป” สบายใจเฉิบ ทำการบินได้แบบปกติอยู่คนเดียว แถมผู้ควบคุมกฏอย่าง CAAT หรือสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ก็เปิดโอกาสให้เที่ยวบินขนส่งสินค้า เป็นหนึ่งในเที่ยวบินที่สามารถทำการบินได้ในช่วงเวลาที่ปิดน่านฟ้าเพื่อยับยั้งเชื้อเดินทางเข้าประเทศในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ทำให้สายการบินอื่นๆ เริ่มฉุกคิดแล้วว่าจะเอาตัวรอดยังไงในสถานการณ์แบบนี้

Cargo in cabin
Cargo in cabin

“ในวิกฤติยังมีโอกาส ปรับตัวได้เร็ว ตั้งสติได้ไว คือผู้รอด” สายการบินของไทยหลายสาย เริ่มเข้ามาเดินในเส้นทางยุทธจักรของการขนส่งสินค้าทางอากาศ และเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เนื่องจากผู้คุมกฏอย่าง CAAT ใจกว้าง และเห็นใจผู้ดำเนินการเดินอากาศของไทยในช่วงเวลาอันยากลำบากนี้

CAAT จึงได้ออกประกาศ เรื่อง การยกเว้นมาตรการและแนวทางปฏิบัติในการขนส่งสินค้าภายในห้องโดยสารของผู้ดำเนินการเดินอากาศ ในสถานการณ์ที่มีโรคระบาด คลิกอ่านประกาศที่นี่ ทำให้สายการบินที่มีเครื่องบินสำหรับขนส่งผู้โดยสาร สามารถนำสินค้าอุปโภค-บริโภคนานาชนิด มาวางบนที่นั่งในห้องโดยสาร รวมถึงใต้ท้องเครื่องบิน เพื่อทำการบินขนส่งสินค้าไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น จีน หรือ ASEAN ทำให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ มีเม็ดเงินเข้ามาจุนเจือบริษัทมากขึ้น ในปัจจุบันมีสายการบินที่เปลี่ยนมาทำการบินขนส่งสินค้าภายในห้องโดยสารเกือบทุกสายในประเทศไทย และทราบข่าวมาว่าบางสายการบินมีความตั้งใจที่จะมีเครื่องบินแบบ Freighter เพิ่มขึ้นอีกด้วย

BOEING 747-400F ของการบินไทย ในอดีต ซึ่งถ้ายังอยู่ตอนนี้ คงทำเงินได้มหาศาล

ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นสายการบินของไทยทุกสายการบิน มีเครื่องบินแบบ Freighter อย่างน้อย 1 ลำ ทุกสายการบิน และเป็นโอกาสที่ดีที่สายการบินจะเปิดรับสมัครบุคลากรด้าน Cargo หรือด้าน Logistic มากขึ้นกว่าเดิม

หาความรู้ด้าน Cargo ไว้ตอนนี้ถือว่า “ได้เปรียบ” เมื่อถึงเวลาตลาดเปิดเมื่อไหร่ หากคุณเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจ โอกาสที่คุณจะได้เข้ามาอยู่ในวงการขนส่งสินค้าทางอากาศก็มีมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

แล้วทุกคนเห็นด้วยหรือไม่? ที่ COVID-19 ทำอะไร “CARGO FLIGHT, AIR FREIGHT” ไม่ได้

มันคือความจริงครับ

เวิร์คช็อป Air Cargo Operations เปิดรับสมัครที่นั่งราคา Early Bird วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน 2564 เวลา 9 โมงเช้าเป็นต้นไป

NX

The NX Master!