“MRO” ตลาดที่มีมูลค่ามหาศาลกว่า $50,000 ล้านของวงการการบิน
MRO คืออะไร?
MRO เป็นคำย่อมาจาก “Maintenance, Repair and Overhaul” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในเรื่องของการบำรุงรักษาและพัฒนาฝูงบินของสายการบินต่างๆในโลก จะว่าไปแล้ว MRO ก็เป็นคำกล่าวโดยรวม ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของอากาศยาน และการสมควรเดินอากาศ (Aircraft Safety and Airworthiness)

ทราบหรือไม่ว่า ตลาด MRO ในทั่วทุกมุมโลก ทุกวันนี้นั้นมีมูลค่าสูงถึง 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยถ้าจะนับเป็นส่วนแบ่งการตลาดก็จะคิดเป็นฝั่งอเมริกาเหนือ 35% ฝั่งยุโรปตะวันตก 22% และฝั่งเอเชียแปซิฟิก 17% แน่นอนผู้ให้บริการ MRO ดังๆที่ติด 10 อันดับแรกของโลกนั้น มีสำนักงานใหญ่อยู่ในภูมิภาคดังกล่าว
MRO ให้บริการอะไรบ้าง?
โดยปกติแล้ว ผู้ให้บริการ MRO ขนาดใหญ่นั้น จะมีขีดความสามารถในการให้บริการ (Capability) อยู่ 3 อย่างหลักๆ คือ โครงสร้างเครื่องบิน (Airframe), เครื่องยนต์ (Engine) และชิ้นส่วนปลีกย่อยต่างๆ (Component) โดยส่วนของเครื่องยนต์นั้น มีสัดส่วนการตลาดทั่วโลกมากถึง 35% ตามมาด้วยชิ้นส่วนปลีกย่อยต่างๆ คิดเป็น 22% และสุดท้าย โครงสร้างเครื่องบิน คิดเป็น 13% ในที่นี้ การบริการตรวจทางเทคนิค และซ่อมบำรุงอากาศยานขั้นลานจอด (Line Maintenance) คิดเป็นสัดส่วน 1ใน 5 ของตลาดทั่วโลกเท่านั้น โดยลูกค้าของ MRO ส่วนใหญ่จะเป็นสายการบินพาณิชย์ซะมากกว่า น้อยครั้งที่จะเห็นเครื่องบินของทางกองทัพมาใช้บริการ จะว่าไปแล้วในส่วนของค่า Maintenance Cost นั้น คิดเป็น 10% โดยประมาณ เมื่อเทียบกับ Cost ทั้งหมดที่ทางสายการบินมี

ผู้ให้บริการ MRO แบ่งเป็นกี่ประเภท?
ผู้ให้บริการ MRO นั้นแบ่งได้เป็น 4 ประเภท
- In-House เป็นหน่วยงานซ่อมบำรุงเป็นของตัวสายการบินเอง โดยจะครอบคลุมทั้งเรื่องของวิศวกรรม และซ่อมบำรุง โดยเครื่องบินในแต่ละรุ่นนั้น ก็จะมีช่างประจำเป็นของตัวเอง สายการบินใหญ่ๆ อย่างเช่น Qantas Airways นั้นมี MRO เป็นของตัวเอง ซึ่งมี Capability ในครอบคลุมในเรื่องของ Component Maintenance, Engine Support and Overhaul อีกทั้งยังมีในด้านของ Line and Minor Maintenance, ระบบการจัดส่งชิ้นส่วนและวัสดุ และมีศูนย์ฝึกบุคคลากรอีกด้วย
- Independent Third Party โดยทั่วไปจะเป็นบริษัทที่ให้บริการ MRO เดี่ยวๆ ที่มีใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ MRO จากทาง FAA, EASA หรือ CASA โดยแต่ละเจ้านั้นจะมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป บางที่เชี่ยวชาญด้าน Engine บางที่เชี่ยวชาญด้าน Component ยกตัวอย่างเช่น Singapore Technologies Engineer Ltd.
- Airline Third Party นั้นจะคล้ายๆกับ In-House คือเป็นของตัวสายการบินเอง แต่ในส่วนนี้จะมีการให้บริการแก่สายการบินลูกค้าด้วย เนื่องจากในบางกรณี สายการบินลูกค้านั้นไม่ได้มีฐานการซ่อมบำรุงของตัวเองอยู่ในบริเวณนั้น Airline Third Party อย่าง Iberia Maintenance นั้นให้บริการที่ครอบคลุมทั้งในด้าน Airframe, Line Engine, Component, Overhaul, Engine, Maintenance และ Modification Services
- Original Equipment Manufacturer (OEM) พูดง่ายๆก็คือ ผู้ผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ของแท้นั่นเอง อย่างที่หลายๆท่านทราบกันอยู่ว่า บริษัทผลิตเครื่องบินพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็น Boeing หรือ Airbus ล้วนต้องสั่งชิ้นส่วนจาก OEM หลายๆเจ้า ไม่ว่าจะเป็น เครื่องยนต์, ระบบอิเล็กทรอนิกส์, ระบบล้อลงจอด หรือแม้กระทั่งหน้าต่างห้องนักบิน หลังจากที่ได้ชิ้นส่วนครบแล้ว บริษัทผลิตเครื่องบินดังกล่าวก็จะทำการประกอบชิ้นส่วนเหล่านี้ให้เป็นรูปเป็นร่างอย่างที่เราเห็นๆกัน ย้อนกลับมาที่บทบาทของ OEM ในเรื่องของ MRO นั่นก็คือ การส่งอะไหล่ซ่อมกับผู้ผลิตนั่นเอง ฉะนั้นคุณจึงสามารถมั่นใจได้เลยว่าจะได้อะไหล่ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน แต่จากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง การส่งชิ้นส่วนหรืออะไหล่ซ่อมกับ OEM นั้นจะเน้นไปในเรื่องของสินค้าที่อยู่ในช่วงประกัน (Warranty) เพราะจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเรื่องการซ่อม แต่ถ้าประกันหมดละก็ การซ่อมกับ OEM เป็นอะไรที่สิ้นเปลืองมาก บางเจ้านั้นใช้เวลานานมาก กว่าจะซ่อมเสร็จและส่งกลับมา ตัวอย่างสำหรับ OEM เจ้าใหญ่ๆ ก็อย่างเช่น Honeywell Aerospace ที่ผลิตระบบอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องยนต์ และระบบอื่นๆอีกมากมาย

ในอดีตนั้น เวลาจะซ่อมเครื่องบินแต่ละที ก็จะซ่อมในรูปแบบ In-House ซะส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันนั้น สายการบินส่วนใหญ่นั้นจะใช้บริการ Third Party มากกว่า ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในบางส่วน และประหยัดช่วงเวลาในการซ่อม (Turn Around Time) นับตั้งแต่วันที่ส่งซ่อมจนถึงวันที่ได้อะไหล่ชิ้นนั้นๆคืน แต่ชิ้นส่วนที่มีมูลค่ามหาศาลอย่างเช่น เครื่องยนต์นั้น สายการบินส่วนใหญ่ยังคงให้ OEM เป็นผู้ดูแล

จริงๆแล้วเนื้อหาของ MRO นั้นมีมากมาย และละเอียดซับซ้อนมาก Thai Aviation Careers ขอนำเสนอเรื่องราวโดยคร่าวๆเพื่อให้ผู้อ่านได้พอเข้าใจและได้ไอเดียเกี่ยวกับตลาด MRO ในยุคปัจจุบัน โดยธุรกิจในด้านนี้ หากมีการบริหารงานที่ดี ก็จะสามารถเป็นช่องทางประกอบอาชีพที่ทำกำไรได้ดีงามเลยไม่แพ้สายการบินเลยทีเดียว

ข้อมูลจาก CAPA Centre for Aviation
แปลและเรียบเรียงโดย เพิ่มพูน ปัญญาธร (ที่ปรึกษา Thai Aviation Careers)