ATC ทำงานยังไง? ควบคุมการจราจรทางอากาศยังไง?
หลายๆคนอาจจะยังไม่รู้จักกับอีกอาชีพหนึ่งที่มีความ Sexy เป็นอย่างยิ่ง และมีค่าตอบแทนที่ค่อนข้างสวยงามอีกอาชีพหนึ่งในวงการการบิน อาชีพที่พูดถึงนี้ก็คืออาชีพ ATC ซึ่งย่อมาจากคำว่า Air Traffic Control หมายถึง การควบคุมการจราจรทางอากาศ ส่วนคนที่ทำหน้าที่นี้มีชื่อเรียกว่า Air Traffic Controller ก็คือผู้ให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศนั่นเอง
Air Traffic Control นั้น มีวัตถุประสงค์ทั้งหมด 3 อย่าง นั่นก็คือ
- เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุระหว่างอากาศยานที่บินอยู่ในอากาศ
- เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุระหว่างอากาศยานกับสิ่งกีดขวางภาคพื้น
- เพื่อให้การจราจรทางอากาศเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย
ขั้นตอนการทำงานของ Air Traffic Controller – การควบคุมการจราจรทางอากาศ
การนำเครื่องออกจากสนามบิน
ทุกครั้งก่อนที่นักบินจะทำการบินออกจากสนามบิน จะมีสิ่งหนึ่งที่ต้องทำ เรียกว่า Flight Plan


โดยนักบิน จะส่งแผนการบิน Flight Plan นี้ให้กับทางเจ้าหน้าที่ ATC รับทราบ โดยในนั้นจะมีรายละเอียดต่างๆ และเรื่องของความสูงที่จะบินแล้วประหยัดน้ำมันที่สุด ซึ่งในบางครั้ง เจ้าหน้าที่ ATC ก็อาจจะไม่สามารถอนุญาตให้นักบินบินตามความสูงที่ต้องการได้เนื่องจากเหตุผลด้านความหนาแน่นของเครื่องบินในเส้นทางนั้นๆ
เมื่อ ATC ได้รับข้อมูลแล้ว ก็จะเช็คสภาพอากาศและดูแผนการบินอีกครั้ง ก่อนจะพิมพ์ข้อมูลลงในแถบกระดาษรายงานความคืบหน้าของเที่ยวบิน (เรียกว่า Flight Progress Strip)

แถบกระดาษ Flight Progress Strip นั้น ใช้ในการติดตามเครื่องบินไปตลอดเส้นทาง และจะอัพเดทข้อมูลตลอดเวลา โดยแถบกระดาษนี้จะถูกส่งต่อไปยัง Ground Controller (เจ้าหน้าที่ควบคุมภาคพื้นดิน)


นักบินจะติดต่อเจ้าหน้าที่หอบังคับการบิน เพื่อขอทำการติดเครื่องยนต์ และขอ Push Back (ดันเครื่องถอยหลังออกจากอาคารผู้โดยสาร)


เมื่อเครื่องบินพร้อมแล้ว ก็จะติดต่อ Ground Controller เพื่อขอทำการขับเคลื่อน (Taxi) จากลานจอดไปยังทางวิ่ง (Runway) เพื่อที่จะทำการวิ่งขึ้น


เมื่อเครื่องบินใกล้ถึง Runway การควบคุมก็จะถูกถ่ายโอนจาก Ground Controller ไปยังหอบังคับการบิน (Local Controller หรือเรียกอีกชื่อว่า Tower)


เมื่อทุกอย่างโอเคและปลอดภัยแล้ว หอ Tower ที่ควบคุมการขึ้น-ลงเครื่องบินทั้งหมดที่เข้า-ออกสนามบิน จะอนุญาตให้นักบินนำเครื่องขึ้นบินด้วยประโยคที่ว่า “Clear for Takeoff” โดยจะแจ้งความถี่วิทยุใหม่ที่ให้นักบินใช้ติดต่อหลังจากนำเครื่องขึ้นแล้ว โดยจะมอบหน้าที่ต่อไปให้กับ Departure Controller (เจ้าหน้าที่ควบคุมเครื่องบินขาออก) ซึ่งฝ่ายขาออกนี้จะอยู่ที่ Terminal Radar Approach Control หรือ TRACON และนักบินจะเริ่มเปิดการทำงานของ Transponder ที่ทำหน้าที่ตรวจจับสัญญาณวิทยุที่เข้ามา แล้วส่งสัญญาณพร้อมข้อมูลที่เข้ารหัสกลับไป


ข้อมูลที่ Transponder ส่งกลับไปจะประกอบไปด้วย
- ข้อมูลเที่ยวบิน
- ความสูง
- ความเร็ว
- ที่หมาย
โดยทั้งหมดนี้จะไปอยู่บนหน้าจอเรดาห์ของเจ้าหน้าที่ควบคุม แต่เครื่องบินสมัยใหม่ ตัว Transponder นี้จะทำงานอัตโนมัติ
Departure Controller จะให้ข้อมูลกับนักบินถึงระยะห่างของเครื่องบินแต่ละลำ พร้อมกับกำหนดทิศทาง ความเร็ว เพดานบิน ซึ่งนักบินต้องปฏิบัติตาม หรืออาจจะแจ้งให้นักบินนำเครื่องบินไปตามเส้นทาง SID (SID – Standard Instrument Departure เส้นทางขาออกมาตรฐาน) เมื่อ Departure Controller เห็นว่าเครื่องบินเข้าสู่เส้นทางที่ต้องการแล้ว ปลอดภัยแล้ว ก็จะส่งต่อการควบคุมให้กับ Area Control – ศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศตามเส้นทางบิน ซึ่งจะทำหน้าที่คอยดูแลจนกระทั่งเครื่องบินลำนั้นเดินทางถึงที่หมาย หรือพ้นเขตประเทศไปแล้ว
สำหรับบทความต่อไป เราจะมาพูดถึงเรื่องของ การแบ่งระดับการช่วยเหลือของเครื่องบิน 2 กลุ่ม นั่นก็คือ
- เครื่องบินที่บินแบบ VFR – Visual Flight Rule เป็นเครื่องบินที่ใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือไม่มาก อาศัยทัศนวิสัยในการตัดสินใจ
- เครื่องบินที่บินแบบ IFR – Instrument Flight Rule เครื่องบินที่ใช้อุปกรณ์เครื่องวัดประกอบการบิน การบินแบบนี้ นักบินต้องส่งแผนการบินให้กับศูนย์ควบคุมและต้องฟังคำแนะนำตลอดเวลาที่ทำการบิน โดย Air Traffic Controller จะดูแลให้อยู่ในตำแหน่งและเส้นทางที่เหมาะสม
อย่าลืมติดตามกันนะครับ
อ้างอิง: Aerothai
ใครอยากทำงานเป็น “Air Traffic Controller” ต้องไม่พลาดเวิร์คช็อปออนไลน์ของเรา
รายละเอียดของเวิร์คช็อปทั้งหมด คลิกที่รูปภาพได้เลย

