บทสรุปขั้นตอนการทำงานของ ATC
เมื่อบินเข้าใกล้จุดหมายปลายทาง
อ่านความเดิมตอนที่ 1
อ่านความเดิมตอนที่ 2
เมื่อเครื่องบินเข้าใกล้จุดหมายปลายทาง โดยทาง Area Control ที่ใกล้กับสนามบินปลายทางนั้นมีแผนการบินที่ถูกส่งต่อกันมาจากสนามบินต้นทางอยู่แล้ว นักบินจะถูกแจ้งให้ลดระดับความสูงลงมาในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งปรับทิศทางการบินให้เข้าสู่แนวการร่อนลงสนามบิน ซึ่งเป็นเส้นทางการบินที่ถูกกำหนดไว้ในแผนที่การบินที่เรียกว่า Enroute Chart สำหรับแต่ละสนามบิน

เมื่อบินเข้าใกล้รัศมี 50 ไมล์ทะเลจากสนามบินปลายทาง เครื่องบินจะถูกส่งต่อจาก Area Control ไปยัง Approach Control ของสนามบินปลายทาง ซึ่งเจ้าหน้าที่ของ Approach Control จะให้คำแนะนำในการนำเครื่องเข้าสู่สนามบินตามเส้นทางที่ถูกออกแบบไว้แล้ว ที่เรียกว่า STARs – Standard Arrival Routes โดย STARs นั้น ถูกสร้างจากสภาพความเหมาะสมแต่ละพื้นที่ สภาพการจราจรโดยรวม รวมถึงสนามบินรอบข้าง และนำข้อมูลทั้งหมดมากำหนดเป็นเส้นทางทางอากาศที่จะนำเครื่องบินให้ร่อนลงจอดอย่างปลอดภัยที่สุด

Advanced Flight Tutorials | Standard Arrival Routes (STAR) and Initial Approaches (IAP)
เมื่อเข้าสู่แนวร่อนสุดท้าย (หรือที่เรียกว่า Final) ระยะห่างจากสนามบินประมาณ 5-10 ไมล์ทะเล เมื่อ Approach Control เห็นว่าปลอดภัยแล้ว ก็จะส่งต่อการควบคุมไปให้เจ้าหน้าที่บน Control Tower หรืออีกชื่อคือ Local Controller ผู้ซึ่งคอยดูแลการขึ้น-ลงทั้งหมด นักบินก็จะอาศัยเครื่องช่วยเดินอากาศ โดยสนามบินแต่ละที่จะมีสถานีอุปกรณ์สำหรับนำร่องให้เครื่องบินร่อนลงจอด มีชื่อเรียกว่า ILS – Instrument Landing System (ระบบนี้ไม่ได้มีในทุกสนามบิน) เพื่อนำทางให้ร่อนลงจอดให้ตรงจุดกึ่งกลางของ Runway โดยทางร่อนลงนั้น นักบินจะมองเห็นไฟ 4 จุดที่ส่องสว่างอยู่ขอบข้างของ Runways ที่จะบอกระยะความสูงที่ถูกต้อง เป็นตัวช่วยให้ปลอดภัยมากขึ้นไปอีก


ก่อนที่เครื่องบินจะร่อนลงจอด ทาง Tower จะตรวจสอบ Runway ว่า ปลอดภัยพอที่จะลงจอดหรือไม่ มีสิ่งกีดขวางหรือไม่ โดยใช้เรดาห์ภาคพื้นและกล้องส่องทางไกลในการตรวจสอบ เมื่อทุกอย่างพร้อม ทาง Tower จะแจ้งกับนักบินด้วยประโยคที่ว่า “Cleared to Land” (อาจตามด้วยหมายเลข Runway เช่น Cleared to Land Runway 21 เป็นต้น) และเมื่อเครื่องบินแตะ Runway และออกจาก Runway เพื่อเลี้ยวเข้า Taxi Way แล้ว ทาง Tower ก็จะส่งต่อการควบคุมไปให้กับ Ground Controller ในขั้นตอนสุดท้าย เพื่อนำทางเครื่องบินไปยังหลุมจอด

สรุปขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ ดังนี้
- นักบินทำ Flight Plan ส่งมายังเจ้าหน้าที่หอบังคับการบิน
- เจ้าหน้าที่หอบังคับการบินตรวจสอบ Flight Plan และจัดทำ Flight Progress Strip
- แผนการบินส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่ Ground Controller
- เมื่อทุกอย่างพร้อม นักบินขอทำการ Push Back เพื่อเตรียมออกจากหลุมจอด วิ่งเข้า Taxi Way ไปยัง Runway
- เมื่อใกล้จะถึง Runway การควบคุมจะถูกส่งต่อจาก Ground Controller ไปยัง Tower (หรือ Local Controller) เพื่อทำการวิ่งขึ้น
- Tower จะสั่ง “Clear for Take-Off” และการควบคุมจะถูกส่งต่อจาก Tower ไปยัง Departure Controller ที่อยู่ที่ TRACON (Terminal Radar Approach Control)
- Transponder จะเริ่มทำงานหลังจาก Take Off (นักบินเปิดการทำงาน หรือ ทำงานโดยอัตโนมัติในเครื่องบินสมัยใหม่)
- เมื่อ Departure Controller เห็นว่าเครื่องบินเข้าสู่เส้นทางที่ต้องการและปลอดภัยแล้ว ก็จะส่งต่อการควบคุมไปยัง Area Control – ศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศตามเส้นทางบิน
- เมื่อเข้าใกล้สนามบินปลายทาง Area Control ที่ใกล้สนามบินปลายทางจะสั่งให้นักบินลดระดับความสูงไปยังความสูงที่เหมาะสม และส่งต่อการควบคุมไปยัง Approach Control ของสนามบินปลายทาง
- นักบินจะบินตาม STARs (Standard Arrival Routes) ของสนามบินปลายทาง
- เมื่อเข้าสู่แนวร่อนสุดท้าย (Final) เมื่อ Approach Control เห็นว่าปลอดภัยแล้ว ก็จะส่งต่อการควบคุมไปให้เจ้าหน้าที่บน Control Tower (หรือ Local Controller)
- เมื่อเครื่องบินแตะ Runway และออกจาก Runway เรียบร้อยแล้ว Control Tower จะส่งต่อการควบคุมไปยัง Ground Controller เพื่อนำทางเครื่องบินไปยังหลุมจอด

และนี่คือสรุปขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ จริงๆยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายที่ต้องรู้ เพราะการจะทำอาชีพนี้ได้ ต้องสอบเข้าและรับการฝึกอบรมร่วมปีเลยเดียว
และถ้าใครอยากจะเรียนรู้แบบเจาะลึก ได้สัมผัส ได้ทดลองการทำ Role Play ได้ลองพูดเหมือนกับ ATC จริงๆ เราก็มีเวิร์คช็อปออนไลน์ที่พร้อมจะพาคุณไปสัมผัสอาชีพนี้แล้ว
รายละเอียดของเวิร์คช็อปทั้งหมด คลิกที่รูปภาพได้เลย

อ้างอิง: Aerothai