The NX Chapter

งานการบิน งานสายการบิน งานสนามบิน นักบิน ลูกเรือ แอร์โฮสเตส สจ๊วต งานขนส่งสินค้าทางอากาศ Logistics แท่นขุดเจาะน้ำมัน งานราชการ รัฐวิสาหกิจ

AviationContent

ทำไม Thai Vietjet ถึงได้แข็งแกร่งทะลุวิกฤติ Covid-19?

ขอบคุณเพจ GATC Thailand สำหรับบทความดีๆอีกครั้งครับ


ก่อนอื่นทางเพจ GATC Thailand ต้องขอแจ้งให้ทราบก่อนว่า บทความวิเคราะห์เรื่องนี้ มาจากความคิดเห็​นส่วนตัว​ และการรวบรวมข้อมูลการดำเนินงานของสายการบินนี้มาหลายปี ตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อประมาณ 7 ปีก่อน พร้อมกับข้อมูลจากบุคคลกรด้านการบินในประเทศที่ได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ดังนั้น ข้อมูลในบทความนี้ หากไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน หรือท่านใดมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อให้บทความนี้สมบูรณ์เพิ่มมากยิ่งขึ้น สามารถแชร์ และแลกเปลี่ยนกัน (แบบสุภาพ/เชิงวิชาการ) ได้ด้วยความยินดี​ครับ

กลับมาที่คำถามว่า ทำไมสายการบินนี้ถึงได้แข็งแกร่ง สวนกระแสสายการบินอื่นๆในประเทศไทยที่ต่างทยอยปลดนักบิน ลูกเรือ และพนักงาน? หรือบางสายการบินมีโครงการสมัครใจจาก (สมัครใจลาออก) ที่ตั้งเป้าหมายจะเอาพนักงานออกเป็นจำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานทั้งหมด เป็นต้น

รวมทั้ง ในช่วงแรกของ Covid-19 บางสายการบินประกาศว่า เราจะรักษาพนักงานไว้ไม่ปลด จับมือไปด้วยกัน แต่ข่าวล่าสุดเมื่อเร็วๆ ที่เจ้าของสายการบิน ได้ออกประกาศกว่า ถ้าประเทศในแถบกลุ่มอาเซียนไม่ยอมเปิดน่านฟ้า สายการบินนี้จำเป็นต้องปลดนักบินและลูกเรืออย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม หากข้อมูลที่ทางเพจ GATC ได้รับมาไม่ผิดพลาด ภายในเดือนกันยายน 2563 นี้ สายการบินไทยเวียดเจ็ท จะเปิดรับลูกเรือ 2 รุ่นๆละ 30 คนรวมจำนวนทั้งหมด 60 คน และจะทยอยนำอากาศยาน เข้ามาประจำการในฝูงบินเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม นี้​ โดยเน้นอากาศยานแบบ A321-NEO (CODE-C)

สำหรับคำตอบ เกี่ยวกับความแข็งแกร่งของสายการบินไทยเวียตเจ็ท ก็เนื่องมาจาก

1. หากย้อนไปเมื่อประมาณ 7 ปีก่อน สายการบินไทยเวียดเจ็ท เริ่มต้นจากอากาศยาน 1 ลำและทยอยนำอากาศยานเข้ามาเรื่อยๆ โดยเช่าอากาศยานมาจาก บริษัทแม่ที่ประเทศเวียดนาม ส่วนนักบินรุ่นแรกๆ ก็มาจาก R Airlines และ Co-pilot จากสายการบินที่มีอากาศยานแบบ A320 เหมือนกันในประเทศไทยมาขึ้นเป็นกัปตันของ ไทยเวียดเจ็ท

2. สำหรับ บริษัทแม่ สายการบินไทยเวียดเจ็ท คือ Vietjet Air ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airline – LCC) ขนาดใหญ่ของประเทศเวียดนาม โดยมี มาดามเหงียน ธี ฟอง เธา เป็นประธานกรรมการบริหารของเวียดเจ็ทแอร์ (เจ้าของ)

มาดาม เหงียน ธี ฟอง เธา เป็นผู้หญิงรุ่นใหม่ไฟแรง มีวิสัยทัศน์ อายุ 50 เป็นนักการเงิน/นักเศรษฐศาสตร์ (จบเศรษฐ์ศาสตร์จากรัสเซีย) เป็นเจ้าของ HD Bank และ SOVICO HOLDING ซึ่งกลุ่มการเงินและการธนาคาร การลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศ รวมทั้งมาดาม เธา ยังมีความสัมพันธ์อันดีกับระดับผู้บริหาร/รัฐบาล ของประเทศ ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ตอนมาดาม เธา ลงนาม สั่งซื้อเครื่องยนต์ ระหว่าง Vietjet Pratt & Whitney ไปติดตั้งให้กับอากาศยานของสายการบิน Vietjet ลำใหม่จำนวน 10 ลำ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ตอนประชุม APEC 2017 ที่ประเทศเวียดนาม President Donald Trump ยังต้องมายืนเป็นสักขีพยาน หรือตอนที่มาดามลงนามสั่งซื้อ Boeing 737 MAX 200 จำนวน 100 ลำ President Obama ก็มาเป็นสักขีพยานตอนลงนามด้วย เช่นกัน

ถ้าถามว่า มาดาม เงินถึงจริงมั้ย? คำตอบคือ เงินถึงจริง! แต่ถึงมาดามจะเงินถึง แต่ก่อนทำสายการบิน มาดามศึกษามาก่อนครับ ไม่ใช่คิดว่าจะมีเงินแล้วทำสายการบินได้ ถ้ามาดามไม่มั่นใจหรือมองเห็นอะไรดีๆไกลๆ (วิสัยทัศน์) คงไม่กล้าที่จะลงทุน หรือเอาเงินมาละลายแม่น้ำ (ฉลาด/มีวิสัยทัศน์/มีเงิน) อะไรที่ขาดทุนไม่ทำ อะไรได้กำไรทำ

รวมทั้ง การทำธุรกิจสายการบินเป็นธุรกิจที่ต้นทุนสูงแต่กำไรต่ำ ประกอบกับลักษณะนิสัยของคนเวียดนามที่เป็นคนมีความละเอียดรอบครอบและวินัยในการใช้เงินอย่างมากๆ เช่นเดียวกับคนอิสราเอล และคนญี่ปุ่น มาดามท่านคงเห็นวิกฤติเป็นโอกาส คนอื่นหยุดแต่เราไม่หยุด

3. สำหรับ พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ.2497 มาตรา 31 กล่าวถึง การจดทะเบียนสายการบินในประเทศไทย​ว่า สัดส่วนการถือครองหุ้น​ บริษัทสายการบินของประเทศไทย​ อย่างน้อย 51 เปอร์เซ็นต์ต้องเป็นของไทย แต่จากการพยายามรวบรวม สืบค้นข้อมูล ทางเพจ GATC ไม่สามารถหา สัดส่วนผู้ถือหุ้นจำนวน 51 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยได้ว่ามีบริษัทหรือใครบ้างที่เป็นของไทยซึ่งถือครองหุ้นส่วนนี้อยู่ คือไม่ทราบว่า ใครคือเจ้าของตัวจริงของสายการบินไทยเวียดเจ็ท เพราะหากว่าผู้ถือหุ้นฝั่งไทยถือไม่ถึง 51 เปอร์เซ็นต์ สายการบินนั้นจะต้องคืนใบจดทะเบียนอากาศยาน และตามมาด้วยการคืนใบสมควรในการเดินอากาศของอากาศยาน

4. การเจริญเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปของสายการบิน​นี้​ เดินหมากช้าๆ​ มั่นคง ไม่ผลีผลาม​ แต่ในช่วง 2-3 ปีก่อน Covid-19 สายการบินมีแผนนำอากาศยานเข้ามาประจำการฝูงบินเพิ่มขึ้น โดยใช้วิธีการเช่ามาจากบริษัทแม่ที่เวียดนาม ซึ่งแผนการคือ เอาอากาศยานแบบ A321-NEO (CODE-C) ซึ่งเครื่องยนต์มีประสิทธิภาพ สมรรถนะ​นะดี​ บินได้ไกลมากขึ้น หรือเครื่องยนต์ดีกว่า A320 และด้วยลำตัวอากาศยานที่ยาวกว่า สามารถบรรจุ ผดส.ได้ถึงประมาณ 240 คน ในขณะที่ A320 ได้ประมาณ 189 ที่นั่ง (มากกว่า 50 ที่นั่ง) ซึ่งปัจจุบัน ไทยเวียดเจ็ทมี A320 จำนวน 6 ลำ A321 จำนวน 5 ลำ

ประเด็นคือ ต้นทุนการดำเนินงาน (Operation Cost) ของสายการบินที่สำคัญ คือ น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนการดำเนินงานทั้งหมด (ประหยัดน้ำมัน รับคนมากขึ้นในคราวเดียว โดยการเลือกใช้แบบอากาศยาน) ดังนั้น สายการบินไทยเวียดเจ็ท จึงเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ (LCC) รายแรกๆของประเทศไทย ซึ่งนำอากาศยานรุ่นนี้มาใช้งาน และหลังจากเทศกาล Covid-19 สายการบินมีแผนปรับใช้ฝูงบินใหม่ โดยเตรียมเช่าเครื่องเพิ่มอีก 4 ลำจากบริษัทแม่ที่ประเทศเวียดนามอีก (ตามแผนเดือนตุลาคม 63 นี้)

5. การบริหารภาคพื้น สายการบินนี้ใช้บริการ บริษัท พัทยา เอวิเอชั่น จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ Handling Agent ให้กับสายการบิน ซึ่ง ปกติสายการบิน LCC อื่นจะทำการ Ground Handling เอง หรือที่เรียกว่า Self- Handling จ้างพนักงานเอง ซื้ออุปกรณ์เอง แต่เมื่อสายการบินไทยเวียดเจ็ทไม่ทำ Ground Handling เอง กลับไปจ้างบริษัท Handling Agent รับผิดชอบ (Outsource) ก็ยิ่งลดต้นทุนการดำเนินงานของสายการบินลงไปอีก ส่วน Handling Agent ที่รับจ้างสายการบินก็ต้องไปลงทุนซื้อ อุปกรณ์ให้บริการ จ้างพนักงาน ติดต่อสนามบิน เช่าพื้นที่ เพื่อจัดการให้ทุกอย่าง

6. ประเด็นต่อมาคือ เมื่อหลายเดือนก่อน กรณี Da Nang cases ที่มีพบผู้ติดเชื้อ Covid-19 ในเมืองดานัง ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวของประเทศเวียดนาม จากการที่รัฐบาลเวียดนาม สนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนท่องเที่ยวภายในประเทศ เนื่องจาก​การปิดน่านฟ้า ซึ่งเมื่อเจอเคสนี้เข้า รัฐบาลก็คุมเข้มเรื่องการเดินทางทางอากาศ ในประเทศเวียดนาม ซึ่งก็ส่งผลต่อสายการบินแม่​ (Vietjet)​ ตามไปด้วย เพราะสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สายการบินเวียดเจ็ท (เวียดนาม) เจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดก็เพราะว่า เส้นทางคมนาคมขนส่งทางบก ยังไม่ค่อยพัฒนาเต็มที่ ดังนั้นนั่งเครื่องบินไปจึงดีกว่า และคนเวียดนามเป็นคนชาตินิยม (Nationalism) ประกอบกับถึงแม้ว่า สายการบินเวียดเจ็ท (เวียดนาม) จะขยายเส้นทางบินไปประเทศจีนบ้างแล้วก็ตาม แต่ก็เนื่องจากเทศกาล Covid-19 น่านฟ้าจึงปิด เพราะฉะนั้น การลงทุนและขยายเส้นทางบินในประเทศไทยโดย สายการบินไทยเวียดเจ็ท (Thai Vietjet ) ซึ่งเป็นบริษัทลูก ก็เป็นอีก 1 กลยุทธ์ที่ชาญฉลาด เพื่อการส่งรายได้หรือเรียกว่า เป็นท่อน้ำเลี้ยง ส่งกลับไปยังบริษัทแม่ที่ประเทศเวียดนามได้อีกทางหนึ่งในช่วงเทศกาล Covid-19 นี้ เพราะคู่แข่งอย่างสายการบินอื่นๆล้วนต่างก็มีปัญหาด้านการเงิน (สภาพ​คล่อง)​ และทยอยจะไปไม่ไหว จึงไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะแข่งขันได้ในช่วงนี้

7. การที่สายการบินไทยเวียดเจ็ท (Thai Vietjet) เลือกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็น Homebase ก็เนื่องจากไม่มีคู่แข่งขัน เพราะ

  • Thai Smile คือ Premium Low Cost ใช้ A320 ที่นั่ง 160 กว่า บริการน้ำของว่างบนเครื่อง + มีตัวแทนขายตั๋ว
  • Bangkok Airways คือ Asia Boutique Airlines ใช้ A319 ที่นั่ง ‪140-150‬ ที่นั่ง บริการเลานจ์ อาหารบนเครื่องบิน + มีตัวแทนขายตั๋ว

ส่วนสายการบินไทยเวียดเจ็ท (Thai Vietjet) นั้นขายทุกอย่าง แต่ก็ยังดีที่นักบินยังดื่มน้ำฟรี ไม่เหมือนสายการบิน Ryan Air ของประเทศอังกฤษที่นักบินจะดื่มน้ำยังต้องซื้อดื่มเลย

8. การซื้อตั๋วสายการบินไทยเวียดเจ็ท จ่ายเงินสด (Cash) โอนเงินเข้าบัญชี ตัดบัตรเครดิต (บริษัทแม่ เป็นเจ้าของธนาคาร HD BANK) และไม่สามารถชำระผ่านตัวแทน เช่น 7-11 ดังนั้นรายได้ค่าตั๋วเข้าบัญชีโดยตรงไม่แวะที่อื่น ประกอบกับการออกใบกำกับภาษี เป็นเรื่องยุ่งยากและใช้เวลานานมาก ซึ่งเรื่องนี้ เป็นประเด็นที่หน่วยงานราชการ มักจะไม่เดินทางกับสายการบินนี้ หากไปราชการ (แต่เดินทางส่วนตัวโอเค) เพราะกว่าจะได้ใบกำกับภาษีมาเบิกต้นสังกัด มักจะเกินเวลาคืนเงิน จึงนิยมไปใช้บริการสายการบินอื่นๆ เช่น ไทยแอร์เอเชีย แบบตั๋วราชการ เลือกที่นั่ง อาหาร น้ำหนักเยอะ ขึ้นเครื่องก่อน ออกใบกำกับภาษีได้เลย ซึ่งการที่ไทยแอร์เอเชีย เริ่มขยายไปเปิดเส้นทางบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเริ่มต้นวันที่ 25 กันยายน 2563 นี้ ก็อาจจะได้ส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) ของข้าราชการที่เดินทางจากสายการบินไทยเวียดเจ็ทได้ แต่อย่าลืมว่า ไทยสมาย (Thai Smile) ก็ยังบินอยู่เช่นกัน รวมทั้ง​เส้นทาง​บินที่แอร์เอเชีย​จะเปิดและจำนวนอากาศยาน​ที่จะเอาไปประจำการที่สุวรรณภูมิ​

9. สาเหตุหนึ่งที่สายการบินไทยเวียดเจ็ท (Thai Vietjet) ไม่เลือกท่าอากาศยานดอนเมือง ถึงแม้ว่าท่าอากาศยานดอนเมือง คือ Low Cost Airport คือ ไม่ใช่ท่าอากาศยานหลัก (เป็นท่าอากาศยานรอง) เข้าออก-ง่ายไม่ยุ่งยาก​ แต่ไทยเวียดเจ็ท​ไม่เลือก เพราะ​คู่แข่งขันหลักมากมายหลายสายการบินไม่ว่าจะเป็น ไทยแอร์เอเชีย ไลอ้อนแอร์ นกแอร์ แล้วไทยเวียดเจ็ท (Thai vietjet) จะมาทำไม ประกอบกับธุรกิจการแข่งขันการบิน Low Cost Carrier (LCC) มีลักษณะ คือ​ หากสายการบินไหนเปิดเส้นทางบินแล้วมีผู้โดยสาร อีกสายการบินก็จะเปิดตาม (ลอกเลียนแบบ) โดยเอาเรื่องราคามาแข่ง ตัดราคากันเอง ซึ่งการเอาราคามาแข่งโดยยอมขาดทุนไปก่อน ก็เสี่ยงมากพออยู่แล้ว โดยสังเกตสายการบินต้นทุนต่ำบางเจ้าที่ขาดทุนติดต่อกันจะเป็นหมื่นล้าน ที่อยู่ได้ก็เพราะเงินหมุน แต่พอเจอ Covid-19 มาก็จบทันที นักบินจากที่รับเงินเดือนเป็นแสนๆ เหลือรับเพียง 25,000 บาท เป็นต้น


ท้ายที่สุดนี้ นี่คือเหตุผลที่ทำไมสายการบินไทยเวียดเจ็ทถึงแข็งแกร่ง และกล้าที่จะสวนกระแสวิกฤตในช่วงเทศกาล Covid-19 รวมทั้งสายการบินนี้ อาจจะกลายมาเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ (LCC) อันดับ 1 ของประเทศไทยหลังจากสถานการณ์ Covid-19 กลับสู่สถานการณ์ปกติ

ทางเพจ GATC Thailand ขอขอบคุณ กตย.และ YAI CNX ผู้สนับสนุนข้อมูลบทวิเคราะห์นี้ครับ

NX

The NX Master!